ชนิดของเสาเข็มกับการเลือกใช้

ชีทไพล์ ตอกชีทไพล์ เบลสซิ่ง ระบบป้องกันดินพัง ชนิดของเสาเข็มกับการเลือกใช้

ชนิดของเสาเข็มกับการเลือกใช้

เสาเข็มนั้นเป็นส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของบ้านเพราะทำหน้าที่ เป็นตัวกลาง ถ่ายน้ำหนักของตัวบ้านลงสู่พื้นดิน โดยถ่ายจากหลังคาพื้นคาน,เสา,ตอม่อและฐานรากตามลำดับซึ่งการถ่ายเทน้ำหนักของเสาเข็มนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ เสาเข็มที่รับน้ำหนักโดยใช้แรงเสียดทาน ซึ่งเสาเข็มชนิดนี้จะถ่ายน้ำหนักตัวบ้านกับชั้นดินโดยใช้แรงเสียดทาน และเสาเข็มที่ถ่ายน้ำหนักชั้นดินแข็งหรือบางท่านเรียกว่าแรงแบกทานโดยถ่ายน้ำหนักจากฐานรากผ่านชั้นดินอ่อนไปยังชั้นดินที่มีความแข็งแรงเพื่อรับน้ำหนัก เสาเข็มเองก็มีหลายชนิดให้เลือกใช้กันแต่จะขอพูดถึงเสาเข็มตอกเป็นอันดับแรกครับ


1. เสาเข็มตอก เป็นการนำเสาเข็มลงไปในดินด้วยการใช้น้ำหนัก ตอกลงบนหัวเข็ม เสาเข็มชนิดนี้ เสาเข็มที่ตอกลงไปจะเข้าไปแทนที่ดินทำให้มีการเลื่อนและเคลื่อนตัวของชั้นดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวราบการใช้เสาเข็มชนิดนี้จึงเหมาะกับการก่อสร้างที่มีพื้นที่กว้างขวางห่างไกลจากอาคารข้างเดียว
เสาที่นำมาทำเสาเข็มตอกก็มีหลายชนิดที่ใช้กันอยู่ เช่น เสาเข็มไม้ซึ่งใช้กันมานาน การใช้เสาเข็มไม้นั้นจำเป็นที่จะต้องตอกให้เสาเข็มอยู่ใต้ระดับน้ำตลอดเวลาเพื่อกันปลวกมอดหรือแมลงเข้ามาทำลายเนื้อไม้รวมทั้งอากาศก็มีส่วนสำคัญในการทำให้เข็มไม่เสื่อมสภาพได้ แต่ในปัจจุบันเสาเข็มไม้ที่ดีมีคุณภาพหายากและมีราคาแพง เสาเข็มตอกส่วนใหญ่นิยมใช้เสาเข็มคอนกรีตหล่อสำเร็จซึ่งมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก และ เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง เสาเข็มประเภทนี้มีด้วยกันหลายแบบ ให้เลือกใช้เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง เพราะมีข้อดีกว่าเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กตรงที่สามารถทำให้ยาวกว่าโดยมีหน้าตัดเล็กกว่าได้ทำให้ผลกระทบจากการตอกเสาเข็มต่ออาคารบ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียงโดยรอบลดน้อยลง
เสาเข็มตอกประเภทสุดท้าย ได้แก่ เสาเข็มเหล็ก ที่ใช้ส่วนใหญ่มักจะเป็นเสาเข็มเหล็ก รูป ตัว H เพราะสามารถทำการตอกลงดินได้ง่าย และรับน้ำหนักบรรทุกได้ดีครับ แต่เสาเข็มเหล็กค่อนข้างจะมีราคาแพงจึงมักจะใช้ในกรณีของการซ่อมอันมีสาเหตุจากการทรุดร้าวของอาคาร
เสาเข็มนั้นจัดเป็นส่วนสำคัญที่เปรียบเสมือนรากฐานของบ้าน ดังนั้นจึงควรใส่ใจในรายละเอียดกันให้มากสักหน่อยเพื่อบ้านของแต่ละท่านได้เริ่มต้นบนรากฐานที่ดี ปัญหาต่าง ๆ ก็ไม่ตามมากวนใจกันทีหลังแน่นอนผมจะขอพูดถึงเสาเข็มอีกประเภท ที่เรียกกันว่า เสาเข็มเจาะครับ


2.เสาเข็มเจาะ นั้นใช้งานกันมากในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด เช่น บริเวณที่มีการก่อสร้างอยู่ติดกับอาคารข้างเคียง เพราะข้อดีของเสาเข็มเจาะ คือ สร้างความกระทบกระเทือนต่ออาคารใกล้เคียงน้อย แต่ก็มีราคาแพงกว่าเสาเข็มตอกอยู่พอสมควร หลักการของเสาเข็มเจาะนั้นจะใช้วิธีเจาะเอาดินออกมาจนถึงระดับที่ต้องการ โดยใช้ปลอกเหล็กป้องกันดินพังแล้วจึงใส่เหล็กเสริมลงไปและเทคอนกรีตจนเต็มหลุมเจาะ เสาเข็มเจาะเองก็แบ่งออกได้หลายประเภทตามวิธีการทำงานดังนี้ครับ


2.1 เสาเข็มเจาะระบบเปียก ระบบนี้จะเหมาะกับงานก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ใช้เครื่องมือขนาดใหญ่และค่อนข้างซับซ้อน

2.2 เสาเข็มเจาะระบบแห้ง นิยมใช้กันทั่วไปในงานก่อสร้าง เช่น บ้านพักอาศัยทั่วไปเพราะเป็นระบบที่ง่ายไม่ต้องใช้เครื่องมือมาก เสาเข็มเจาะประเภทนี้มีหน้าตัดเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 60 เซนติเมตร สำหรับอาคารบ้านเรือนโดยทั่วไปนิยมใช้เข็มเจาะเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 เซนติเมตร และ มีความยาว ประมาณ 20 – 30 เมตร

2.3 เสาเข็มเจาะแบบ ไมโคร ไพล์ (Micro pile) เป็นเสาเข็มเจาะขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 25 เซนติเมตร เสาเข็มขนิดนี้แม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็มักจะมีราคาแพง เนื่องจากใช้เทคนิคที่พิเศษกว่าแบบอื่น ๆ ใช้มากในงานซ่อมแซมอาคาร หรือ ต่อเติมบริเวณที่มีพื้นที่ในการทำงานน้อย ๆ

2.4 เสาเข็มเจาะแบบพิเศษ จะคล้าย ๆ กับเสาเข็มเจาะระบบเปียกแต่จะมีหน้าตัด รูปแบบต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป เช่น หน้าตัดรูปตัว H รูปตัว T หรือเป็นรูปเครื่องหมายบวกทำให้เสาเข็มชนิดนี้สามารถรับน้ำหนักได้มากและมีความคงทนด้วยครับ
จะเห็นว่าเสาเข็มที่เหมาะในการก่อสร้างบ้านพักอาศัยทั่วไป คือ เสาเข็มเจาะระบบแห้งแต่หากบ้านที่ก่อสร้างนั้นไม่มีอาคารใดอยู่ข้างเคียงเลย ก็ให้พิจารณาเลือกใช้เสาเข็มตอก จะเป็นการประหยัดกว่า ส่วนบริเวณที่มีชั้นดินแข็งอยู่แล้วในทางภูมิภาคของประเทศก็ไม่จำเป็นต้องใช้เสาเข็มนะครับ เปลี่ยนมาใช้ฐานรากแผ่จะเหมาะสมกว่าครับ

Cr.planban

พูดคุย-สอบถาม คลิก