ปัจจัยสำหรับ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?

ชีทไพล์ ตอกชีทไพล์ เบลสซิ่ง ระบบป้องกันดินพัง ปัจจัยสำหรับ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?

ปัจจัยสำหรับ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?

1. เลือกลูกค้า ฟังไม่ผิดหรอกครับ เราต้องเลือกลูกค้าด้วยไม่ใช่แค่ว่าลูกค้าเลือกเรา เหมือนการหาพนักงาน ไม่ใช่แค่บริษัทเลือกคนเข้าทำงาน แต่จริงๆแล้วพนักงานก็เลือกบริษัทที่จะทำเหมือนกัน
ซึ่งในการทำงานจริงนั้น ถึงแม้เราจะทำสัญญารอบคอบ รัดกุมขนาดไหน หรือทำ BOQ ครบถ้วนก็ตาม แต่พอถึงเวลาทำจริงๆ ถ้าลูกค้ามีการเปลี่ยนความต้องการ ผู้รับเหมาก็มักจะทำให้ เพียงแต่ว่าจะกระทบกับการทำงานแค่ไหนเท่านั้นเอง โดยทั่วไปปัญหาที่เกิดจากลูกค้าจะมีดังนี้

 

ลูกค้ามีการเปลี่ยนรายละเอียดบ่อย และ/หรือต้องรอการตัดสินใจจากลูกค้านานเกินไปซึ่งจะทำให้งานล่าช้า และมีผลต่อค่าแรงงานก่อสร้าง เพราะการคำนวณค่าแรงนั้น เรามักจะคำนวณบนพื้นฐานที่เป็นตารางพื้นที่เป็นหลัก ทำให้ต้นทุนแรงงานจริง บางครั้งหรือหลายครั้ง ก็จะไม่สอดคล้องกับต้นทุนแรงงานที่วางแผนไว้

คำถามคือ..แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกค้าคนนี้จะไม่เปลี่ยนรายละเอียดบ่อย หรือตัดสินใจนาน ทำให้งานเราสะดุดไปด้วย?
คำตอบคือ..อาจจะดูจากนิสัยภายนอกได้บ้าง แต่ไม่มีทำนายได้ถูกต้อง100%หรอกครับ… นอกจากจะได้ทำงานร่วมกัน

 

จ่ายเงินช้า อย่าลืมว่าการดำเนินงานทุกอย่าง ต้องใช้เงินลงทุนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงงาน ค่าวัสดุ และค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่นๆอีก ถึงแม้ผู้รับเหมาจะมีการวางงวดงานไว้อย่างชัดเจน แต่พอถึงเวลาจ่ายเงิน ก็อาจจะไม่ได้เป็นไปตามนั้น ซึ่งสาเหตุที่จ่ายล่าช้าก็มีมากมาย เช่น

  • ลูกค้าหมุนเงินไม่ทัน
  • ลูกค้ายังไม่จ่าย เพราะงานในงวดไม่เสร็จ สาเหตุเป็นที่ผู้รับจ้าง
  • ลูกค้ายังไม่จ่าย เพราะงานในงวดไม่เสร็จ แต่ในความเป็นจริง มีงานสลับลำดับการทำงานไปแล้ว เช่น มาขอให้ทำงานในงวดงานอื่นก่อนเพื่ เหตุผลต่างๆ แต่ส่วนมากผู้รับเหมาก็มักจะยอม แต่ถึงเวลาเก็บเงินไม่ได้ เพราะทำแค่บางส่วน
  • การประสานงานที่ไม่ดีพอระหว่าง พนักงานของผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้ต้องเลื่อนการจ่ายเงินไปอีก
  • การประสานงานภายในไม่ดีพอระหว่างพนักงานด้วยกันเองของผู้รับจ้าง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้ต้องเลื่อนการจ่ายเงินไปอีก
  • การประสานงานภายในไม่ดีพอระหว่างพนักงานด้วยกันเองของผู้ว่าจ้าง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้ต้องเลื่อนการจ่ายเงินไปอีก


2. มีเงินทุนหมุนเวียน

ข้อนี้สำคัญมาก เพราะผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือบริษัทรับเหมาก่อสร้าง หลายๆที่น่าจะเคยมีปัญหานี้กันมาหมด
เนื่องจากในบางครั้ง มูลค่าของงานที่รับมาค่อนข้างจะสูง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้รับเหมาก่อสร้าง ควรมีเงินทุนหมุนเวียนเกินกว่า 20% ของมูลค่างานที่รับมา เพราะถ้าอาศัยแต่เงิน Advance กับการเบิกเงินระหว่างวดเพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้งานสะดุดได้
แต่ถ้าการจ่ายเงินในแต่ละงวดไม่มีปัญหา ก็อาจจะผ่านมาได้แล้วแล้วถ้าการจ่ายเงินล่าช้าหล่ะ?จะเกิดผลกระทบแน่นอน เพราะไม่มีเงินไปจ่ายค่าต่างๆ เช่น ค่าวัสดุ ค่าแรงงานพนักงาน เป็นต้นดังนั้น ในเรื่องเงินทุนหมุนเวียน หรือ Cash Flow นั้นสำคัญมาก จะต้องวางแผนดีๆ Monitor อยู่ตลอด ว่ารายรับ รายจ่าย สอดคล้องกันไหม


3. ควบคุมต้นทุนก่อสร้าง 

ผู้รับเหมาหลายๆที่ มักจะไม่ติดตาม ควบคุมต้นทุนอย่างใกล้ชิดนัก เพราะมักจะเอาเวลาไปกับการแก้ปัญหาหน้างาน เป็นหลัก จนละเลย ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของโครงการ ในหลายๆที่ มักจะไม่มีฝ่ายที่ควบคุมต้นทุนก่อสร้าง โดยเฉพาะ มักจะเอาข้อมูลมาจากฝ่ายบัญชี ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ละเอียดพอ ในการบริหารจัดการ ในบางบริษัท จึงเลือกที่จะมีฝ่ายควบคุมต้นทุนก่อสร้าง โดยเฉพาะ ทำให้สามารถติดตามค่าใช้จ่ายได้อย่างใกล้ชิด และปัญหาค่าใช้จ่ายที่ไม่ชัดเจนมักจะมาจากเงินสดย่อย ที่มักจะไม่นำมาแยกแบ่งหมวดค่าใช้จ่ายให้ถูกต้อง ทำให้การประเมินต้นทุนตามหมวดงาน มีความผิดพลาด


4. เสนอราคาแบบมีกำไร ไม่มาก ไม่น้อยไป

คือให้มีกำไรแบบพอควร มากไปก็ไม่ได้งาน น้อยไปก็อาจจะมีปัญหาทำงานไม่คุ้มค่าแรง โดยทั่วไป ผู้รับเหมาจะมีกำไรประมาณ 10-15% แล้วแต่ลักษณะงาน
ความสมเหตุสมผลในเรื่องราคา เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ วิน วิน ด้วยกันทุกคุ่ ทั้งผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้าง
เพราะถ้าผู้รับเหมาบางที่คิดราคาถูกมาก ผู้ว่าจ้างจะรู้ได้อย่างไรว่า ขั้นตอน หรือกระบวนการในการทำงานบางส่วนอาจจะถูกลดไป เช่น ลดวัสดุ , เปลี่ยนแปลงสเปค , เร่งการทำงาน(จนขาดคุณภาพ) ซึ่งอาจจะทำให้ผลงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร เพราะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เนื่องมาจากกำไรที่น้อยมาก

 

5. เลือกงานที่เราถนัด

ในการทำงานจะมีงานหลากหลายประเภท และจะต้องอาศัยประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป  โดยพื้นฐานเราจะเข้าใจกันดีว่า ถ้าเราเคยผ่านงานที่มีลักษณะคล้ายๆกัน บ่อยครั้ง ก็จะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในงานนั้นๆเป็นอย่างดี จึงทำให้งานออกมาดี ในระยะเวลาที่ดีเช่นกัน

ผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีความเป็นมืออาชีพ มักจะเลือกงานที่ตัวเองถนัด เพราะมีประสบการณ์ ทำให้สามารถควบคุมแผนงานและต้นทุน ระยะเวลาในการทำงานได้ดีขึ้น และความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดก็จะน้อยลง

 


6. ดูแลพนักงาน คนงานและผู้รับเหมาช่วง เหมือนคนในครอบครัว

เมื่อดูแลเค้าดี เราก็จะได้สิ่งที่ดีกลับมา น่าจะเป็นเรื่องปกติของการแลกเปลี่ยนในการจ้างงาน ถ้าผลตอนแทนดี ลูกจ้างก็ทำงานเต็มที่

 

ซึ่งการดูแลอาจไม่ใช่เพียงแค่เรื่องทรัพย์สินเงินทองอย่างเดียว ความเอาใจใส่เสมือนเค้าเป็นคนในครอบครัวก็สำคัญ

แต่ในการทำงานจริงอาจจะดูแลไม่ทั่วถึง บางองค์การ หรือบางหน่วยงาน หัวหน้า 1 คน อาจจะดูแลลูกน้องเยอะเกินไป จึงทำให้บางครั้ง การจัดการในเรื่องคน ก็มักจะสั่งผ่านหัวหน้าระดับย่อยต่อไป ซึ่งก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันได้ เพราะความสนิทหรือความชอบส่วนตัวในแต่ละคน

 

7. มี Supplier ที่ดี

ข้อนี้ถ้าดูเผินๆแล้ว เหมือนจะไม่ค่อยสำคัญอะไรมาก เพราะบางคนก็อาจจะคิดว่า Supplier มีให้เลือกตั้งมากมาย ไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่ในทางปฏิบัติจริงแล้ว ถ้าเราได้ Supplier ที่ดี เราจะไม่เสียเวลาในการเทียบราคาบ่อยๆ เพราะ Supplier ที่ดีนั้น ในเรื่องราคาถ้าต้นทุนมาลดลง เค้าก็จะลดราคาลงตาม แต่ถ้าเป็น Supplier ทั่วๆไป ที่มีลูกค้าประจำๆอยู่แล้ว (เหมือนรู้อยู่แล้วว่าต้องซื้อเค้า) ก็อาจจะไม่ได้ลงราคาลงมาตาม ทั้งๆที่ราคาต้นทุนลดลงมาแล้วก็ตาม

ความยืดหยุ่นก็สำคัญ ถ้า Supplier ที่ดิวกันมาพอสมควร ก็จะมีความยืดหยุ่นให้ฝ่ายจัดซื้อ เพราะบางครั้งมีของต้องสั่งด่วน เอาของด่วน แต่เอกสารทำไม่ทัน ก็ต้องดูตามความเหมาะสมกันไป แต่ถ้ายืดหยุ่นมากก็จะเสี่ยงกับ Supplier เอง ดังนั้นเรื่องนี้ก็ต้องดูความเหมาะสม กับเครดิตที่สะสมมา

 

8. เทคนิคการจัดซื้อ

โดยทั่วไป ผุ้รับเหมาก่อสร้างที่ไมใช่บริษัทใหญ่โตอะไร มักจะไม่มีฝ่าย Supplychain จะมีแต่ฝ่ายจัดซื้อ
ซึ่งฝ่ายจัดซื้อก็จะทำตามหน้าที่ตรงๆคือ จัดซื้อ จัดหาวัสดุ ตามที่ไซต์งานแต่ละโครงการขอซื้อมา
และในความเป็นจริงแล้ว ใครๆก็รู้ว่า ถ้าซื้อของในปริมาณมากๆ จะได้ราคาถูก แต่ในทางปฏิบัติของบางอย่าง หรือบางประเภทจะมีอายุ เก็บไว้ได้ไม่นาน หรือเกิดการสูญหายก่อนก็ได้ ดังนั้นเพื่อมีความสมดุลกันระหว่าง ปริมาณ | ราคา | รอบเวลา จึงจำเป็นต้องมีฝ่าย Supply chain เพื่อบริหารงานจัดซื้อแบบโดยรวมโดยจะดูความต้องการในการใช้ของตลอดทั้งโครงการ ไม่ใช่ดูแบบรายวัน หรือรายสัปดาห์ ซึ่งการจะรู้หรือบริหารแบบนี้ได้ก็ต้องมีความรู้ในงานบริหารก่อสร้างพอสมควร และมีทักษะในการประสานงานกับไซต์งานเป็นอย่างดี  โดยทั่วไปแล้ว แต่จะหน่วยงานก็จะมีเป้าหมายในการทำงานไม่เหมือนกัน ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นลักษณะนี้

  • ไซต์งาน : เน้นของมาตามวันและเวลา ที่ต้องการ และตรงตามสเปค (ข้อเสียคือไม่ค่อยสนราคาเท่าไหร่)
  • จัดซื้อ : เน้นราคาจะต้องถูก แต่ก็ต้องให้ทันเวลาตามที่ไซต์งานต้องการ (ข้อเสียคืออาจจะทำให้ส่งของล่าช้า เพราะมัวแต่เทียบราคาให้ถูกที่สุด)
  • suppy chain : นำเอาข้อดีของฝ่ายจัดซื้อ และไซต์งาน(ทุกที่) มาดูในภาพรวม ทำให้เห็นปริมาณวัสดุ และรอบเวลาที่จะสั่งทั้งหมด ทำให้สามารถสั่งได้ในปริมาณมากๆ โดยไม่กระทบกับการจัดเก็บ แต่ต้องอาศัยเทคนิคการบริหารจัดการอื่นๆเข้ามาช่วยด้วย สั่งซื้อล่วงหน้าเป็นปริมาณมาก แต่ให้ทยอยส่งตามกำหนดเวลาที่ตกลง

 

9. คุมงานอย่างมืออาชีพ

การทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลา เป็นมาตราฐานที่ผู้รับเหมาจะต้องมี แต่จะดียิ่งกว่า ถ้าเสร็จเร็วกว่าแผนงาน เพราะจะทำให้ลูกค้าเชื่อมั่น ในการบริหารจัดการของเรา ซึ่งระหว่างการก่อสร้าง อาจจะมีเหตุให้ต้องเปลี่ยนแผนการทำงานอยู่บ่อยๆ และทำให้ไม่เป็นไปตามแผนงาน หน้าที่ของผู้รับเหมาก็คือต้องชี้แจ้งอย่างตรงไป ตรงมา ถึงสาเหตุที่ต้องเลื่อนออกไป

และเรื่องที่สำคัญคือปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ของผุ้รับเหมาคือ การตัดสินใจของผู้ว่าจ้าง  เพราะบางครั้งหรือหลายๆครั้ง ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จำเป็นจะต้องได้รับการตัดสินใจจากผู้ว่าจ้าง หรือได้รับวัสดุจากผู้ว่าจ้าง(กรณีซื้อเอง อยู่นอก BOQ) เพราะไม่อย่างนั้น จะไม่สามารถทำงานต่อได้ ซึ่งจะทำให้เสียค่าแรงคนงานไปโดยไม่มีงานให้ทำ

ดังนั้น ผู้ควบคุมงาน ก็จะต้องมี timeline ที่ชัดเจน ว่าควรจะแจ้งทางผู้ว่าจ้างในช่วงเวลาไหน ซึ่งควรจะบอกก่อนล่วงหน้าพอสมควร
เพื่อให้ผุ้ว่าจ้างมีเวลาในการตัดสินใจหรือเลือกวัสดุต่างๆ โดยบางครั้งอาจจะต้องอาศัยทักษะในการคุยหรือเจรจาด้วย

 

10. ดูแลลูกค้า

บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ดี มักจะไม่ต้องทำการตลาดหาลูกค้า (อาจจะทำเฉพาะช่วงเปิดบริษัทใหม่ๆ)
เพราะเมื่อได้ลูกค้ามา และดูแลลูกค้าเป็นอย่างดีจนจบโครงการ เดี๋ยวลูกค้าคนนั้นก็จะบอกต่อเอง เป็นการทำการตลาดโดยที่ไม่ต้องทำการตลาด(ไม่งงเนอะ) แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าดูแลลูกค้าไม่ดี ลูกค้าต้องคอยโทรตามบ่อยๆ หรือแก้ปัญหาไม่จบไม่สิ้น หลังจบโครงการก็อย่าหวังเลยว่าลูกค้าจะแนะนำต่อ

หรือซ้ำร้ายจะบอกต่อเหมือนกัน แต่บอกว่า “อย่าไปทำกับบริษัทรับเหมารายนี้เด็ดขาด”
แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังเหมือนกันน่ะครับ ผู้รับเหมาบางรายรักษาฐานลูกค้าดีมาก แต่กำไรแทบไม่เหลือ เพราะอาจไปตามใจลูกค้าจนเคยชิน มีงานเพิ่มแต่ไม่คิดค่าใช้จ่ายโดยอาจจะคิดว่าเป็นงานเล็กน้อย แต่พอหลายๆงานเข้าก็เยอะพอสมควร ดังนั้นดูแลลูกค้าและก็อย่าลืมดูแลกำไรตามด้วยแล้วกัน


Cr.boris.co.th

พูดคุย-สอบถาม คลิก